พระปิดตา แข้งซ้อน พระอาจารย์อรรถ วัดน้ำวน
28 กรกฎาคม 2024พระปิดตา หลวงพ่อผัน วัดแปดอาร์ ( วัดราษฎร์เจริญ) เนื้อผงผสมว่านสบู่เลือด
28 กรกฎาคม 2024
พระผงว่าน หลวงพ่อขาว หลัง หลวงพ่อเมตตาหลวง วัดเทพพิทักษ์ปุณณาราม
฿550.00
Description
เนื้อผงว่านผสมชานหมาก สภาพดี หน้า หลวงพ่อขาว หลัง หลวงพ่อเมตตาหลวง วัดเทพพิทักษ์ปุณณาราม จ.นครราชสีมา ศิษย์อาวุโสพระอาจารย์มั่น
ประวัติและปฏิปทา
พระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่เมตตาหลวง, หลวงปู่สิงห์ สุนฺทโร) วัดเทพพิทักษ์ปุณณาราม (วัดพระขาว) ต.กลางดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
๏ ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย
พระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่สิงห์ สุนฺทโร, พระอาจารย์มหาสิงห์ สุนฺทโร ป.ธ. ๖) หรือที่รู้กันทั่วไปในนาม “หลวงปู่เมตตาหลวง” มีนามเดิมว่า สิงห์ เนียมอ้ม เกิดเมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๒ ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีระกา ณ หมู่ที่ ๓ ต.สะอาด อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น โยมบิดา-โยมมารดาชื่อ นายหา และนางปาน เนียมอ้ม มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๑๐ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๒
๏ ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา
ได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุได้ ๑๑ ขวบ ซึ่งเป็นการบวชหน้าไฟอุทิศส่วนกุศลให้แก่คุณตาที่ถึงแก่กรรม แต่อย่างไรก็ดี การบรรพชาในครั้งนี้ท่านตั้งใจบวชเพื่ออุทิศบุญกุศลและถวายชีวิตเป็นพุทธบูชา ณ วัดบ้านหนองอ้อใหญ่ ต.สะอาด อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นการบวชฝ่ายมหานิกาย หลังจากบรรพชาได้ ๒ ปี พระอุปัชฌาย์ของท่านได้เห็นความตั้งใจจริง และมองการณ์ไกลต่อไปในอนาคต จึงได้บวชให้ใหม่เป็นฝ่ายธรรมยุติกนิกาย
ต่อมาจึงให้ท่านไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมที่วัดศรีจันทร์ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น ซึ่งในช่วงนี้ท่านได้ติดตามพระภิกษุรูปหนึ่งไปยัง วัดอุ่มเม่า จ.กาฬสินธุ์ แล้วจึงกลับมายังวัดศรีจันทร์อีกครั้ง ครั้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๒ ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดศรีจันทร์ โดยมี พระครูพิศาลอรัญญเขต (จันทร์ เขมิโย ป.ธ. ๓) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระครูพิเศษสุตคุณ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระปลัดสังข์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระปลัดดวงจันทร์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “สุนฺทโร” แปลว่า ผู้งาม
วัยความที่ท่านมีนิสัยขยันหมั่นเพียรอ่านท่องหนังสือ จึงทำให้มีผู้สนใจรบเร้าให้พระอุปัชฌาย์พาท่านเพื่อมาศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ ซึ่งก็ได้รับความยินยอมตามประสงค์ พระอุปัชฌาย์ท่านจึงได้พาตัวหลวงปู่ไปถวายกับสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) เจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส ราชวรวิหาร แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ ในขณะนั้น ซึ่งท่านก็ได้เรียนนักธรรมที่กรุงเทพฯ และสอบมาเรื่อยๆ จนกระทั่งสอบได้เปรียญธรรม ๖ ประโยค ในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ซึ่งขณะนั้นท่านมีอายุได้ ๒๙ ปี จึงได้เดินทางกลับสู่ภูมิลำเนา
เมื่อหลวงปู่กลับไปถึง อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ท่านได้รับตำแหน่งหน้าที่เป็นพระสังฆาธิการเจ้าคณะอำเภอ ซึ่งในขณะนั้นท่านก็ได้นำวิชาความรู้ที่ร่ำเรียนมา นำมาสอนแก่เหล่ากุลบุตรผู้สนใจ รวมทั้ง ได้ตั้งสำนักเรียนพระปริยัติธรรมขึ้น ณ วัดเสี้ยวโคกลาง อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ในช่วงเวลานี้หากว่างเว้นจากการสอน ท่านก็จะหามุมเงียบสงบเพื่อเจริญปฏิบัติภาวนาในป่าเขาเช่นกัน
ต่อมาหลวงปู่ก็ได้พบกับหลวงปู่คำดี ปภาโส ซึ่งหลวงปู่คำดีได้แนะวิธีเจริญปฏิบัติภาวนาให้ ท่านจึงเคารพหลวงปู่คำดีเป็นอย่างยิ่ง ครั้นต่อมา หลวงปู่ขาว อนาลโย ได้ออกเดินธุดงค์หาความสงบวิเวกผ่านมาทางจังหวัดเลย หลวงปู่จึงได้ออกเดินธุดงค์ไปพร้อมกับหลวงปู่ขาว กระทั่งหลวงปู่ขาวได้เล็งเห็นถึงปฏิภาณของหลวงปู่สิงห์ สุนฺทโร จึงได้ถ่ายทอดและสอนท่านให้สวดมนต์พระคาถาเมตตาหลวง
พระคาถาเมตตาหลวงบทนี้ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านมักจะใช้ภาวนาเจริญเมตตาไปยังสรรพสัตว์ไม่มีประมาณ ให้หมู่มนุษย์และเทวดาได้รับความร่มเย็นเป็นสุขโดยทั่วกัน เป็นการเจริญกรรมฐานที่มีอานิสงส์ทำให้จิตตั้งมั่นได้ถึงระดับอัปปนาสมาธิ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา จิตสามารถตั้งมั่นในระดับฌาณ ๓ ส่วนอุเบกขา จิตสามารถตั้งมั่นในระดับฌาณ ๔ ในหมวดกรรมฐาน ๔๐ กองบทนี้เรียกว่า พรหมวิหาร ๔ หรืออัปปมัญญา ๔ ซึ่งพระคาถาบทนี้หลวงปู่ขาว อนาลโย แห่งวัดถ้ำกลองเพล ต.โนนทัน อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู ได้รับการถ่ายทอดไว้และสามารถจดจำได้เพียงรูปเดียว และต่อมาได้ถ่ายทอดให้แก่หลวงปู่สิงห์
ครั้นต่อมา หลวงปู่สิงห์ก็ได้นำมาเผยแผ่ต่อให้กับลูกศิษย์ลูกหา จนกระทั่งสาธุชนทั้งหลายให้สมญานามท่านว่า “หลวงปู่เมตตาหลวง” เมื่อท่านอยู่ศึกษาปฏิบัติกับหลวงปู่ขาว อนาลโย ได้เวลาสมควรแล้ว จึงย้อนกลับมาปฏิบัติภาวนาอยู่กับหลวงปู่คำดี ปภาโส เช่นเดิม
หลังจากนั้นหลวงปู่ยังได้พบกับครูบาอาจารย์อีกหลายรูปหลายองค์ และต่อมาได้ติดตามสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธัมมธโร) มาพำนักจำพรรษา ณ วัดพระศรีมหาธาตุ วรมหาวิหาร แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพฯ ซึ่งสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ท่านเห็นความเหมาะสมของหลวงปู่ จึงได้แต่งตั้งให้ท่านเป็นพระธรรมฑูต ไปแสดงพระธรรมเทศนาตามสถานที่ต่างๆ เป็นเวลานานถึง ๔ ปี จึงลาออกจากตำแหน่ง
ในช่วงที่ท่านพำนักจำพรรษาอยู่ ณ วัดพระศรีมหาธาตุ วรมหาวิหาร กรุงเทพฯ นั้น หลวงปู่ได้มาศึกษาปฏิบัติอยู่กับท่านพ่อลี ธัมมธโร แห่งวัดอโศการาม ต.ท้ายบ้าน อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ด้วย ซึ่งภายหลังท่านจึงติดตามท่านพ่อลี ธัมมธโร ออกธุดงค์เดินทางไปภาคอีสาน ออกวิเวกตามสถานที่ต่างๆ จนกระทั่งมาถึงดงพญาเย็น ท่านได้พักปฏิบัติธรรมอยู่ ณ ที่นั้น ซึ่งเป็นเชิงเขาที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “เขาสีเสียดอ้า” หรือ “เขาเทพพิทักษ์” บริเวณหมู่บ้านกลางดง ต.กลางดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
๏ สร้างวัดเทพพิทักษ์ปุณณาราม (วัดพระขาว)
ครั้นต่อมาท่านพ่อลี ธัมมธโร มีดำริที่จะสร้างวัดเทพพิทักษ์ปุณณาราม (วัดพระขาว)
ขึ้นมาพร้อมๆ กับสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่องค์หนึ่ง บนภูเขาสีเสียดอ้า
กระทั่งมีคณะศรัทธาญาติโยมมาร่วมแรงร่วมใจกันสร้างวัดและพระพุทธรูป
ในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ โดยวัดสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๒
แต่พระพุทธรูปยังไม่ทันจะสร้างแล้วเสร็จ ท่านพ่อลีก็มรณภาพลงเสียก่อน
พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นนั้นเป็นพระพุทธรูปนั่งปางประทานพรสีขาวบริสุทธิ์ขนาดใหญ่
ได้ทำการขยายส่วนมาจากพระพุทธรูป ภ.ป.ร. มีขนาดหน้าตักกว้าง ๒๗.๒๕ เมตร
องค์พระสูง ๔๕ เมตร หมายถึง พระพุทธองค์ทรงโปรดเวไนยสัตว์อยู่ ๔๕ พรรษา
หรือเรียกว่าทรงทำพุทธกิจอยู่ ๔๕ พรรษา หลังจากตรัสรู้แล้ว
สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก มีน้ำหนักถึง ๓,๐๐๐ ตัน
ตั้งโดดเด่นอยู่บนยอดเขากลางป่าเขียว สูงจากระดับพื้นดิน ๑๑๒ เมตร
หรือ ๕๖ วา หมายถึง พระพุทธคุณของพระพุทธเจ้า ๕๖ ประการ
การสร้างองค์พระในครั้งนี้เพื่อเป็นการน้อมเกล้าฯ ถวายโดยพระราชกุศล
เป็นพระบรมราชานุสรณ์พิเศษ และได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระนาม
จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙
ทั้งขอพระราชทานพระปรมาภิไธยย่อของทั้ง ๒ พระองค์
(ในหลวงรัชกาลที่ ๙ และพระราชินี)
อัญเชิญมาประดิษฐานที่ฐานองค์พระพุทธรูป
พระองค์ได้ทรงพระราชทานพระนามว่า “พระพุทธสกลสีมามงคล”
แต่ชาวบ้านทั่วไปมักเรียกว่า “หลวงพ่อขาว” หรือ “หลวงพ่อใหญ่”
ตามรูปลักษณ์และขนาดของพระพุทธรูปองค์นี้
ที่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนในระยะหลายกิโลเมตร
พระพุทธสกลสีมามงคล (หลวงพ่อขาว) มีพุทธลักษณะดังนี้
– สูงจากระดับพื้นดิน ๑๑๒ เมตร หรือ ๕๖ วา
หมายถึง พระพุทธคุณของพระพุทธเจ้า ๕๖ ประการ
– องค์พระพุทธรูปสูง ๔๕ เมตร
หมายถึง พระพุทธองค์ทรงโปรดเวไนยสัตว์อยู่ ๔๕ พรรษา
หรือเรียกว่าทรงทำพุทธกิจอยู่ ๔๕ พรรษา หลังจากตรัสรู้แล้ว
หน้าตักกว้าง ๒๗ เมตร (๑๓ วา ๒ ศอก ๑ คืบ)
หมายถึง องค์แห่งธุดงค์ค์วัตร ๑๓ ประการ
– พระเกตุ (โมลี) สูง ๗ เมตร
หมายถึง โพชฌงค์ ๗ องค์แห่งการตรัสรู้
– พระกรรณ (หู) ยาว ๖.๘๐ เมตร
– ช่องพระนาสิก (จมูก) มีขนาดกว้างพอถังน้ำมัน ๒๐๐ ลิตรลอดได้
– พระเนตรดำขลิบด้วยเมฆพัด (โลหะผสมชนิดหนึ่ง) และดวงพระเนตรฝังมุก
ทางเดินขึ้นไปกราบนมัสการพระพุทธสกลสีมามงคล (หลวงพ่อขาว) จะมีลักษณะเป็นบันไดขึ้น ๒ ด้าน สร้างโค้งเว้าประกอบกันเป็นรูปใบโพธิ์ ขึ้นไปบรรจบกันที่องค์พระพุทธรูป บันไดมีทั้งสิ้น ๑,๒๕๐ ขั้น (นับรวมทั้งทางด้านซ้ายและด้านขวา) ซึ่งเท่ากับจำนวนพระอรหันต์สาวก ผู้ทรงอภิญญา ๖ ที่เดินทางมาเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ณ วัดพระเวฬุวัน นอกเมืองราชคฤห์ โดยมิได้นัดหมาย ในคืนวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ อันเป็นการก่อกำเนิดแห่ง “วันมาฆบูชา” นับเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
นอกจากนี้บริเวณใกล้ๆ กับที่ประดิษฐานพระพุทธสกลสีมามงคล (หลวงพ่อขาว) ยังมีทางเดินป่าเล็กๆ ทอดยาวไปสู่ยัง “ถ้ำเมตตา” และ “ถ้ำหมี” ซึ่งถ้ำหมีแห่งนี้ เป็นถ้ำที่หลวงปู่เมตตาหลวงใช้ในการบำเพ็ญภาวนาอยู่เป็นประจำ ต่อมา คณะศรัทธาญาติโยมจึงกราบนิมนต์หลวงปู่เมตตาหลวง ให้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดเทพพิทักษ์ปุณณาราม (วัดพระขาว) จ.นครราชสีมา ซึ่งหลวงปู่เมตตาหลวงก็ได้เมตตารับนิมนต์ และพำนักจำพรรษา ณ ที่วัดแห่งนี้ รวมทั้ง อบรมสั่งสอนคณะศรัทธาญาติโยมมาโดยตลอด กระทั่งหลวงปู่ได้มรณภาพลง เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ เวลา ๑๐.๓๐ น. สิริอายุรวมได้ ๘๒ ปี พรรษา ๖๑ โดยมีพระราชวิมลญาณ (หลวงพ่อทองใส จันทโสภโณ) เป็นเจ้าอาวาสสืบต่อมา
วัดเทพพิทักษ์ปุณณาราม (วัดพระขาว) ปัจจุบันมีพระครูพิทักษ์ธรรมานุยุต (คมกฤช สุวีโร) เป็นเจ้าอาวาส โดยทางวัดจะมีการแสดงพระธรรมเทศนา ปฏิบัติธรรม ทำวัตรเช้า-เย็น และสวดมนต์ไหว้พระ ฯลฯ เป็นประจำทุกวัน (ช่วงเช้าเริ่มเวลา ๐๓.๐๐ น. ช่วงเย็นเริ่มเวลา ๑๗.๓๐ น.)