พระผง พิมพ์ซุ้มกอข้างเรียบ หลวงพ่อแย้ม วัดสามง่าม ปี ๒๕๔๒
8 พฤศจิกายน 2024พระสังกัจจายน์ หลวงพ่อพรหม วัดขนอนเหนือ ปี ๒๕๑๘
8 พฤศจิกายน 2024
เหรียญจอบหล่อโบราณ หลวงพ่อเกตุ วัดทุ่งศรีเมือง รุ่นแรก
฿500.00
Description
เนื้อทองระฆัง สภาพดี รุ่นแรก พิมพ์จอบ วัดทุ่งศรีเมือง อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย
ประวัติการศึกษาพุทธาคมของหลวงปู่เกตุ วัดศรีเมือง
อย่างที่เคยกล่าวไว้ในเบื้องต้นของบทความว่า เป็นที่น่าเสียดายที่ตอนหลวงปู่เกตุท่านยังมีชีวิตอยู่ ไม่มีใครคิดสอบถามและบันทึกประวัติโดยละเอียดของท่านไว้เลย จนกระทั่งท่านมรณภาพจึงได้มีการสอบถามจากผู้ใกล้ชิดกันอย่างคร่าวๆ(ไม่ละเอียด)และได้บันทึกไว้ในหนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๓๗ โดยภายหลังผู้เขียนเชื่อว่ายังมีการบันทึกปีพ.ศ.ที่เกิด ( พ.ศ.๒๔๒๒)และสิริอายุ (๑๐๙ปี) ของหลวงปู่เกตุคลาดเคลื่อน เพราะหากเป็นไปตามนั้นจริงก็จะไปขัดแย้งกับประวัติหลวงพ่อเภา วัดถ้ำตะโก และ หลวงพ่อแจง วัดเกาะแก้วซึ่งต่างก็เป็นอาจารย์ของหลวงปู่ทั้งคู่ แถมยังไปขัดแย้งกับข้อมูลที่ลูกศิษย์รุ่นเก่าๆของท่านที่ยังมีชีวิตอยู่ในยุคปัจจุบันเล่าให้ฟัง ต่อมาทางผู้ใหญ่ทองคำ บุญรอด ได้อธิบายให้ผู้เขียนฟังว่า โดยส่วนตัวแล้วผู้ใหญ่ทองคำก็เชื่อว่าปีพ.ศ.ที่ท่านเกิดและท่านบวชก็คงคลาดเคลื่อนไปจริง เพราะทางญาติพี่น้องของหลวงปู่เกตุและท่านปลัดอำเภอในสมัยนั้นได้โต้แย้งกับลูกศิษย์บางคนเมื่อตอนพูดคุยกันก่อนจะทำการบันทึกแล้ว แต่ท้ายที่สุดได้มีการบันทึกออกมาตามที่ท่านได้อ่านไปจนได้ ทั้งๆที่ภายใต้ภาพถ่ายของหลวงปู่ในหน้าถัดไปพิมพ์ไว้ว่าท่านเกิดในพ.ศ.๒๔๓๑
จากการที่ผู้เขียนได้ค้นคว้าสอบถามบรรดาลูกศิษย์ที่เคยบวชอยู่กับท่านมากมายหลายรุ่น ต่างยุค ต่างสมัยกัน พอสรุปความได้ว่าหลวงปู่เกตุเกิดที่บ้านแป้งอำเภอกงไกรลาศในปี พ.ศ.๒๔๓๑ และได้ติดตามพระทางสิงห์บุรีไปบวชเณรกับหลวงพ่อเภา วัดถ้ำตะโก ซึ่งในสมัยนั้นขึ้นอยู่กับอำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี เมื่อบวชแล้วก็ได้เรียนกรรมฐานกับหลวงพ่อเภา จากนั้นก็ไปศึกษาพุทธาคมกับหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า (มีหลักฐานยืนยันคือเหรียญ ร.๖ ที่มีลายมือจารของหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ภายหลังเหรียญนี้หลวงปู่ศุขได้มอบให้คุณวิรัตน์ เผือกแดง เมื่อตอนบวชอยู่กับท่านในปีพ.ศ.๒๕๒๙ โดยขณะที่หลวงปู่ท่านมอบให้ ท่านได้เล่ารายละเอียดให้ฟังด้วย) และเคยไปอยู่กับหลวงปู่ถิร ที่วัดบพิตรพิมุข (วัดเชิงเลน) กทม.หลายพรรษา หลวงปู่ถิรนี้เป็นพระรุ่นราวคราวเดียวกับหลวงปู่เกตุ เข้าใจว่าหลวงปู่เกตุไปเรียนกรรมฐานกับหลวงปู่ไข่ อินทสโร จากนั้นหลวงปู่เกตุได้กลับมาอยู่วัดต่างๆทางจังหวัดพิษณุโลก และ อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัยอีกหลายวัด แต่วัดที่น่าสนใจโดยเกี่ยวข้องกับการเรียนพุทธาคมของท่านคือ วัดท่าช้าง อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก เพราะเป็นวัดที่อยู่กึ่งกลางระหว่างวัดเกาะแก้วกับวัดสนามไชย อีกทั้งชาวบ้านท่าช้างไปมีครอบครัวเป็นคนหนองโพธิ์ จังหวัดนครสวรรค์มาก จึงทำให้หลวงพ่อเดิมถูกอาราธนาขึ้นมาที่นี่บ่อยๆ จนหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพธิ์ หลวงพ่อฝ้าย วัดสนามไชย และหลวงพ่อแจง วัดเกาะแก้ว สนิทสนมกันหมด (เรื่องนี้ทางอาจารย์ประเจตน์ อดีตศึกษานิเทศก์จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นคนทางวัดสนามไชยก็ยืนยัน และ กำนันลกลูกศิษย์หลวงพ่อแจง วัดเกาะแก้วก็ยืนยัน แถมเล่าว่าเมื่อสมัยที่กำนันเป็นเด็กๆยังเคยเห็นหลวงพ่อเดิมมานั่งเคี่ยวน้ำมันมนต์กับหลวงพ่อแจงที่หน้าวิหารวัดเกาะแก้ว)
การมาอยู่ที่วัดท่าช้าง อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลกนี้ ทำให้หลวงปู่เกตุได้เรียนพุทธาคมกับเกจิอาจารย์ทั้งสามท่าน โดยเรียนกับหลวงพ่อเดิมขณะที่ท่านมากิจนิมนต์และพำนักที่วัดท่าช้าง เดินทางไปเรียนวิชาการลงตะกรุดกับหลวงพ่อแจง วัดเกาะแก้ว ซึ่งอยู่ห่างไปราว ๖-๗ กิโลเมตร และได้ไปเรียนวิชาการลงปลัดขิกกับหลวงพ่อฝ้าย วัดสนามไชย ซึ่งอยู่ห่างไปราว ๖-๗ กิโลเมตรเช่นกัน สำหรับการเรียนวิชากับหลวงพ่อเดิมนั้น หลวงพ่อดำรง ลิ้มรส บุตรบุญธรรมของหลวงปู่เกตุ (ปัจจุบันอายุ ๗๘ ปี) ยืนยันว่า หลวงปู่เกตุเคยให้หลวงพ่อดำรงค์ถือย่ามไปหาหลวงพ่อเดิมกับท่านถึงวัดหนองโพธิ์ จังหวัดนครสวรรค์ ส่วนหลวงพ่อฝ้ายนั้นหลวงปู่เกตุท่านเรียกหลวงพ่อฝ้ายว่าอาจารย์ เมื่อตอนปลงศพหลวงปู่ฝ้ายในยุคปี พ.ศ.๒๔๙๓ หลวงพ่อดำรงยังได้ไปร่วมงานด้วย ปรากฏว่าจีวรของหลวงปู่ฝ้ายเผาไม่ไหม้ไฟ ตอนนั้นศรัทธาสาธุชนเลยแย่งจีวรกันจนฝุ่นตลบ หลวงพ่อดำรงยังเล่าอีกว่า ในสมัยนั้นหลวงปู่ฝ้ายท่านโด่งดังกว่าหลวงพ่อแจงมาก แต่เหตุที่คนรุ่นหลังทั่วไปไม่ค่อยรู้จักท่าน เพราะท่านเป็นพระไม่ค่อยพูด นุ่งห่มจีวรมอมแมมไม่ค่อยซัก เก็บตัว และไม่ยอมให้ถ่ายรูป จึงไม่มีใครเขียนประวัติของท่านขึ้นมาได้ คนทั่วไปในรุ่นหลังๆจึงไม่รู้จักท่าน นอกจากหลวงพ่อฝ้ายแล้วนี้ยังมีพระเกจิอาจารย์อีกรูปหนึ่งที่หลวงปู่เกตุท่านเรียกอาจารย์คือหลวงพ่อมาก วัดบางแก้ว อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก หลวงพ่อมากท่านเป็นลูกศิษย์ หลวงพ่อทัพ อินทโชติ หรือพระครูเทพสิทธิเทพาธิบดี วัดทอง (วัดสุวรรณาราม) ธนบุรี เจ้าตำรับพระปิดตายันต์ยุ่ง อันโด่งดัง หลวงพ่อดำรงเล่าว่า ท่านเคยเห็นหลวงพ่อมากเอามีดโกนเหน็บรักแร้ แล้วกระชากออกมาโดยไม่มีบาดแผลแม้แต่น้อย
น้าก้อม แตงโม ลูกศิษย์อีกคนหนึ่งของหลวงปู่เกตุ เล่าว่า ในสมัยที่เขาบวชเป็นพระอยู่กับหลวงปู่เกตุนั้น (หลังพ.ศ.๒๕๐๐) เคยติดตามหลวงปู่เกตุไปพบหลวงปู่รูปหนึ่งทางบ้านวังขอน (ปัจจุบันน้าก้อมนึกไม่ออกว่าท่านชื่ออะไร อยู่วัดไหน) โดยขณะนั้นหลวงปู่เกตุจะไปขอตะกรุดที่ท่านคล้องคออยู่ ปรากฏว่าหลวงปู่รูปนั้นท่านไม่ยอมให้ตะกรุดกับหลวงปู่เกตุ แต่ได้ถ่ายทอดวิชาควายธนูให้แทน เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าหลวงปู่เกตุท่านเป็นพระคงแก่เรียนและชอบใช้วิชาที่เรียนมาทำเครื่องรางของขลังอยู่ไม่น้อย ขนาดหลวงปู่ท่านเรียนมามากครูมากอาจารย์แล้ว แต่ท่านก็ไม่ได้หยุดแสวงหาวิชาเลย อีกอย่างหลวงปู่ที่น้าก้อมจำชื่อไม่ได้รูปนี้คงมีตะกรุดสำคัญทีเดียวหลวงปู่เกตุจึงไปขอแต่เสียดายที่เราไม่รู้รายละเอียดมากนัก
นอกจากหลวงปู่เกตุท่านจะมีครูบาอาจารย์หลายองค์แล้ว หลวงปู่เกตุท่านยังมีสหธรรมิกที่แลกเปลี่ยนวิชากันมากมายหลายรูปอาทิ หลวงพ่อมา วัดป่ามะม่วง หลวงพ่อปี้ วัดด่านลานหอย หรือแม้กระทั่งหลวงปู่เขียน สำนักขุนเณร หลวงปู่เกตุเคยเดินธุดงค์ไปทางเหนือกับหลวงพ่อปี้ วัดด่านลานหอย แล้วก็ไปเจอหลวงปู่แหวนกลางทาง จึงเดินไปด้วยกันแต่หลวงปู่แหวน ไม่ได้กลับมาด้วย ท่านปักหลักอยู่ที่ดอยแม่ปั๋งเลย ในเรื่องเดียวกันนี้ผู้ใหญ่ทองคำบอกว่า เคยมีคนไปหาหลวงปู่แหวนแล้ว หลวงปู่แหวนท่านถามว่ามาจากไหน คนที่ไปหาบอกว่ามาจากสุโขทัย หลวงปู่แหวนเอ่ยขึ้นว่า “เลยหลวงปู่เกตุ วัดศรีเมืองมาได้อย่างไร?”
เมื่อกลับจากวัดท่าช้างแล้ว หลวงปู่เกตุก็มาสร้างวัดเกตุวนารามได้ไม่นาน (ในสมัยนั้นชื่อวัดบ้านใหม่สุขเกษม ที่อำเภอกงไกรลาศ) ท่านเจ้าคุณทองปลิว วัดจอมทอง ศิษย์ผู้ใกล้ชิดหลวงพ่อแจง วัดเกาะแก้วก็มาอาราธนาท่านไปเป็นเจ้าอาวาสวัดเกาะแก้ว เรื่องนี้กำนันลก ลูกศิษย์วัดเกาะแก้ว (เกิดทันหลวงพ่อแจงมีชีวิตอยู่ถึง ๙ ปี ) เล่าให้ฟังว่า หลวงปู่เกตุท่านมาเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อแจง วัดเกาะแก้ว (คะเนจากสภาพร่างกายในขณะนั้นหลวงปู่เกตุน่าจะมีอายุอ่อนกว่าหลวงพ่อแจงนับสิบปี) เมื่อหลวงพ่อแจงมรณภาพในปีพ.ศ. ๒๔๙๓ แล้ว พระอาจารย์ถนอม เพชรชื่น ได้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดเกาะแก้วแล้วเกิดลาสิกขาบท ท่านเจ้าคุณสุวรรณวิสุทธิคุณ ซึ่งเป็นพระปกครองและลูกศิษย์ของหลวงพ่อแจง ได้อาราธนาหลวงปู่เกตุ จากวัดใหม่สุขเกษม อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย มาอยู่เป็นเจ้าอาวาสวัดเกาะแก้ว ต.ปากโทก อ.เมือง จ.พิษณุโลก ในราวปีพ.ศ.๒๔๙๔ (อาจจะคลาดเคลื่อนเล็กน้อยเพราะกำนันลกจำไม่ค่อยได้) โดยมาอยู่มากกว่า ๒ พรรษา จนกระทั่งเกิดความขัดแย้งกับกรรมการวัดและชาวบ้านเรื่องการสูบน้ำจากแม่น้ำขึ้นมาใช้ ท่านจึงกลับไปอยู่ที่วัดใหม่สุขเกษมตามเดิม โดยนำหัวตำราของหลวงพ่อแจงกลับไปด้วยจำนวนหนึ่ง ระหว่างที่หลวงปู่เกตุอยู่ที่วัดเกาะแก้วนั้น กำนันลกซึ่งเป็นเด็กวัดรับใช้ใกล้ชิดบีบนวดท่านอยู่เสมอ ได้เห็นท่านนำกิ่งละมุดตายพรายที่หลวงพ่อแจงผู้เป็นอาจารย์ได้ปลูกไว้มาทำเป็นปลัดขิก แต่ในยุคนั้นยังไม่มีนางครวญนอนอยู่ข้างบน โดยมีพระโพธิ์ (หลวงน้าของกำนันลก) เป็นผู้ช่วยแกะ ปลัดขิกรุ่นนั้นหลวงปู่เกตุได้ทำตัวจ่าฝูงหรือตัวครูขึ้นเอาไว้เป็นประธานของปลัดขิกทุกตัว ปลัดขิกจ่าฝูงหรือตัวครูนี้มีขนาดยาวเท่าฝ่ามือและมีปลัดขิกตัวเล็กขี่อยู่บนหลัง เมื่อปลุกเสกเสร็จแล้ว หลวงปู่เกตุท่านก็ได้แจกจ่ายตัวเล็กออกไป แต่ปลัดขิกตัวครูท่านได้เก็บไว้เองและพกใส่ย่ามไว้ตลอดเวลา ปลัดขิกตัวครูนี้ มีอานุภาพสูงมาก เห็นได้ชัดในตอนที่กำนันลกไปขอมาจากท่านเมื่อปีพ.ศ.๒๕๑๘ ช่วงเวลานั้นกำนันลกได้นำรถแม็กโครไปช่วยขุดบ่อน้ำให้หลวงปู่ที่วัดศรีเมือง เมื่อถึงงานไหว้ครูหลวงปู่ได้แจกปลัดขิกให้แก่ชาวบ้านและลูกศิษย์ลูกหาที่มาร่วมงาน ชาวบ้านและลูกศิษย์ต่างๆก็ทยอยกันคลานเข้าไปรับปลัดขิก จนมาถึงคิวของกำนันลก หลวงปู่เกตุก็ยื่นปลัดขิกแบบเดียวกับคนอื่นๆให้แต่กำนันลกปฏิเสธที่จะรับปลัดขิกธรรมดานั้น พร้อมกับกล่าวขอปลัดขิกตัวครูในย่ามหลวงปู่ ทำให้หลวงปู่ถึงกับอุทานออกมาว่า “จะเอาตัวครูของข้าเชียวรึ?” แต่แล้วท่านก็ควักจากย่ามออกมาประสิทธิมอบให้ โดยระหว่างที่หลวงปู่ท่านทำการประสิทธิปลัดขิกตัวครูให้นั้น จักจั่นที่ร้องอยู่ทั่ววัดมาตั้งแต่แรก กลับเงียบเสียงลงสนิท จนท่านประสิทธิเสร็จนั่นหละ เหล่าบรรดาจักจั่นจึงร้องลั่น ส่งเสียงดัง ได้ตามเดิม ปัจจุบันปลัดขิกตัวครูนี้ ถูกหลานของกำนันลกได้ยืมไปใช้ค้าขายจนร่ำรวยและไม่ยอมคืนให้กำนันลกแล้ว
หลังจากที่หลวงปู่เกตุกลับจากวัดเกาะแก้วไปยังวัดเกตุวนารามได้ไม่นาน ทางวัดศรีเมืองก็ว่างเจ้าอาวาสลง ศรัทธาชาวบ้านจึงมาอาราธนาหลวงปู่ไปเป็นเจ้าอาวาส ท่านจึงย้ายไปอยู่วัดศรีเมือง แล้วก็ไม่ไปอยู่ที่ไหนอีกเลย ตราบจนกระทั่งมรณภาพในปี พ.ศ.๒๕๓๐ สิริอายุ ๙๙ ปี