฿500.00
เนื้อทองแดง รมดำ สภาพดี บล็อกแรก ปี ๒๕๒๔ วัดโพธิ์ศรีละทาย จ.ศรีสะเกษ
ประวัติหลวงปู่พระครูโสภณ จันทรังสี
หลวงปู่เพ็ง จันทรังสี ปัจจุบันหลวงปู่ท่าน อายุ ๘๘ ปี พรรษา ๖๘ เป็น เจ้าอาวาสวัดบ้านละทาย อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสระเกษ เป็นศิษย์เอกของหลวงปู่อ้วน โสภโน แห่งวัดบ้านโนนค้อ อ.โนนคูณ จ.ศรีสะเกษ พระเกจิอาจารย์ดังแห่งยุคปี พ.ศ.๒๕๐๐ ของจังหวัดศรีสะเกษ เป็นศิษย์น้องหลวงปู่สังข์ สุริโย วัดนากันตรม และเป็นศิษย์ผู้พี่ หลวงปู่ประสาร อรหปัจจโย วัดโนนผึ้ง หลวงปู่ท่านมีนิสัยสันโดษ เรียบง่าย เป็นกันเอง ใครแวะเวียนไปกราบท่านจะได้รับความเมตตาจากท่านเท่าเทียมกันทุกคน
ชาติภูมิ : นามเดิมว่า นายเพ็ง พละศักดิ์ เกิดเมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๔๖๖ เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของบ้านละทายโดยกำเนิด โดยเป็นบุตรคนที่สองของนายผาง นางคำตา พละศักดิ์ มีพี่น้องร่วมสายโลหิตเดียวกัน ๗ คน ปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่ นอกจากบิดามารดาได้เสียชีวิตไปแล้ว ฐานะทางครอบครัวของพ่อแม่ในอดีตจัดอยู่ในฐานะปานกลาง อาชีพหลักทำนา ทำสวน ทำไร่ เหมือนชาวชนบทในท้องถิ่นทั่วไป ดังนั้น ในอดีต นายเพ็ง พละศักดิ์ จึงมีชีวิตอยู่กับท้องทุ่งนา คลุกคลีอยู่กับกลิ่นโคลนสาบควาย เลี้ยงควายตามท้องทุ่ง สู้แดดทนฝน ตรากตรำ ฝ่าความลำบากมาด้วยความอดทน
ครั้นพอเติบโตขึ้น เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๓ ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนบ้านละทาย ( วัดบ้านละทาย ) จนจบชั้นประถมปีที่ 4 อันเป็นชั้นสูงสุดของโรงเรียนในสมัยนั้นจากการเล็งเห็นการณ์ไกลของผู้เป็น บิดามารดา และฐานะทางครอบครัวพอที่จะส่งเสียให้ลูกได้เรียนต่อสูงขึ้น ดังนั้นนายเพ็ง พละศักดิ์ จึงได้เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนช่างไม้ศรีสะเกษ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ ในสมัยนั้นสภาพการศึกษาระดับสูงขึ้นจะมีเฉพาะในตัวจังหวัดเท่านั้น เรียนอยู่ชั่วระยะหนึ่ง เมื่ออำเภอกันทรารมย์ มีโรงเรียนราษฎร์ระดับมัธยมจัดตั้งขึ้น จึงย้อนกลับมาเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนมัธยมกันทรารมย์แห่งนี้ในเวลาต่อมา จนจบชั้นมัธยมปีที่ ๒
ครั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๔ ได้เข้ารับราชการเป็นครูประชาบาลตำแหน่งครูโรงเรียนบ้านอาลัย ตำบลจาน อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นครั้งแรกในชีวิต อยู่ได้ไม่นานก็ลาออก
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๕ เข้ารับราชการเป็นครูครั้งที่ ๒ อีกโดยได้บรรจุเป็นครูโรงเรียนบ้านสำอาง อำเภอธาราปริวัติ เมืองนครจำปาศักดิ์ ในชีวิตในถิ่นไกลโพ้น หลวงปู่เล่าให้ฟังว่า ต้องข้ามน้ำข้ามทะเล รอนแรมตั้งหลายวัน กว่าจะถึงนครจำปาศักดิ์ ชีวิตต้องทนอยู่กับความลำบาก โดดเดี่ยว เส้นทางคมนาคมในสมัยนั้นไม่สะดวก จิตใจก็ว้าเหว่คิดถึงบ้าน พ่อแม่ ญาติพี่น้อง ประกอบกับในชีวิตไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน อยู่ได้ไม่นานนัก เนื่องจากความผันผวนทางด้านการเมืองขณะนั้น ให้อพยพข้าราชการการกลับถิ่นเดิมเมื่อกลับมาถึงถิ่นปิตุภูมิแล้วอุปสมบท : แทนที่จะกลับเข้ารับการเป็นครูเหมือนเดิม นายเพ็ง พละศักดิ์ กลับเกิดความท้อแท้ ความไม่แน่นอนในทางชีวิตจึงเปลี่ยนแนวทางชีวิตใหม่ ตัดสินใจสู่ชายผ้าเหลืองใต้ร่มเงาผ้ากาสาวพัตร หวังจะเป็นทายาทสืบทอดพระพุทธศาสนา ได้สละเพศบรรพชิตเข้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุในวัยที่ยังหนุ่มแน่น ที่วัดโพธิ์ศรีละทาย อันเป็นบ้านเกิด
เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๔๘๖ เป็นภิกษุเพ็ง จันทรังสี ตั้งแต่นั้นมาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน
จากการได้สัมผัสชีวิตในความเป็นครูมาก่อน ครั้นมาอุปสมบท ภายใต้ร่มเงาพระพุทธสาสนา ทำให้หลวงปู่มีความสนใจในการศึกษาเล่าเรียนในพระธรรมวินัย จึงมุ่งสู่สำนักพระธรรมวินัยวัดปะอาว ตำบลปะอาว อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานีเป็นสำนักแรก ต่อมาได้ไปศึกษาสำนักพระธรรมวินัยวัดบ้านนาคำใหญ่ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี และได้ไปศึกษาคัมภีร์มูลกระจายจากสำนักพระอุปัชฌาย์อ้วน โสภโณ ที่วัดบ้านโนนค้อ ตำบลโนนค้อ อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ จนแตกฉานในหนังสือลาว ไทย ขอมท้ายสุดสอบได้นักธรรมเอก จนได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านโคกสะอาด อำเภอโนนคูณ จังหวัดศรีสะเกษ และเป็นเจ้าคณะตำบล และเป็นอุปัชฌาย์ ตำบลโนนค้อเขต ๒ ในเวลาต่อมา
ในระหว่างครองสมณศักดิ์เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านโคกสะอาด และพระอุปัชฌาย์ตำบลโนนค้อเขต 2 อยู่นั้น หลวงปู่ได้นำชาวบ้านสร้างพระอุโบสถศาลาการเปรียญ กุฏิ ห้องน้ำ ห้องส้วม พัฒนาวัดจนสำเร็จเรียบร้อยนอกจากเสนาสนะดังกล่าวแล้ว หลวงปู่ยังได้นำชาวบ้านโคกสะอาดสร้างทำนบ ถนนหนทางเชื่อมระหว่างหมู่บ้านหลายสายให้ได้ไปมาติดต่อกันสะดวกสร้าง โรงเรียน นำชาวบ้านพัฒนาหมู่บ้าน จัดหาที่ดินสร้างอนามัยบ้านโคกสะอาด
นับว่าหลวงปู่ได้สร้างความเจริญให้แก่ท้องถิ่นเป็นอเนกประการหลังจากพระ อุปัชฌาย์กลม ปุสโส เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ศรีละทายคนเดิมได้มรณภาพแล้ว ตำแหน่งเจ้าอาวาสว่างลง ชาวบ้าน
ละทายเห็นพ้องต้องกันว่าเห็นควรไปกราบนิมนต์พระอุปัชฌาย์เพ็ง จันทรังสี มาเป็นเจ้าอาวาส เพราะท่านเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของชาวบ้านละทาย ท่านก็รับนิมนต์และได้สละตำแหน่งทางวัดเดิม มาเป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ศรีละทายเมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๒๔ ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลละทายเมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๒๔ เป็นพระธรรมทูตเผยแผ่อบรมสั่งสอนประชาชนในเขตรับผิดชอบ ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๓
หลวงปู่พระครูโสภณ จันทรังสี ได้นำชาวบ้านละทายสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้น เพราะหลังชำรุด ไม่เหมาะและไม่สะดวกในการทำสังฆกิจตามยุคตามสมัย ดังที่เห็นในปัจจุบัน นอกจากนี้หลวงปู่ได้จัดหาที่ดินสร้างสถานีอนามัยของหมู่บ้าน นำชาวบ้านตัดถนนเข้าวัดอีกเส้นหนึ่งเพราะทางเดินไม่สะดวก สร้างหอระฆัง สร้างฌาปณสถาน ศาลาบำเพ็ญบุญ สร้างวัดป่าจันทรังสี ( ปัจจุบันคือวัดบ้านโอ้น ) ขยายเนื้อที่วัดให้กว้างขวางเพียงพอแก่การใช้ในศาสนกิจ
ครั้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๒ หลวงปู่พระครูโสภณ จันทรังสี ได้นำชาวบ้านและผู้มีจิตศรัทธา สร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ขนาดหน้าตักกว้าง ๘ เมตร สูงพร้อมทั้งฐาน ๑๗ เมตร ตามรูปแบบองค์พระปางมารวิชัย พร้อมเสมาธรรมจักร ๑ คู่ อัครสาวกสารีบุตร โมคคัลลาน์ และฉัพพันรังสี โดยใช้เวลาก่อสร้าง ๒ ปี ๑ เดือน ๑๙ วัน ได้สำเร็จดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ นับเป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่สุดในแถบนี้จากความมุ่งมั่นของหลวงปู่ในอันที่ จะเสริมสร้างและจรรโลงพระพุทธศาสนาให้เป็นศรีสง่าแก่วัดและบ้านละทาย เพื่อเป็นที่พึ่งทางใจของชาวบ้านละทาย และชาวพุทธได้เคารพสักการะบูชา นับเป็นความสำเร็จที่ควรที่ควรแก่การสรรเสริญ เชิดชูคุณงามความดีเป็นอย่างยิ่ง
หลวงปู่เป็นนักพัฒนาทั้งในด้านวัตถุจิตใจ เป็นนักบุญที่เสียสละทุกอย่าง ใฝ่หาประสบการณ์ความรู้ มีเมตตาธรรมโอบอ้อมอารีย์ แม้หลวงปู่จะอายุมาก แต่ก็ปรับตัวทันเหตุการณ์ได้ดี สร้างคุณงามความดีไว้มากมายเป็นคุณูปการ เป็นพระเถระผู้ใหญ่ที่ชาวละทายและคนในท้องถิ่นให้ความเคารพนับถือรักใคร่ ถ้วนหน้ากัน หลวงปู่เป็นเกจิอาจารย์ชื่อดังรูปหนึ่ง มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย เป็นเบ้าหล่อหลอมจิตใจของชาวละทายโดยแท้เห็นควรได้รับการเชิดชูคุณงามความดี ของหลวงปู่ พระครูโสภณ จันทรังสี ด้วยความเคารพยิ่ง
พระเครื่องและวัตถุมงคลที่สร้าง :
๑. เหรียญรุ่นแรก สร้าง พ.ศ. ๒๕๒๔ จำนวนที่สร้างไม่แน่ชัดและในปัจจุบันมีบล็อกเสริมด้วย สวนบล็อกที่สร้างครั้งแรกนั้นเป็นเนื้อทองแดง
๒. เหรียญรุ่นสอง สร้าง พ.ศ. ๒๕๓๔ เนื้อฝาบาตรเป็นส่วนใหญ่ เพื่อเป็นที่ระลึกในพิธีตัดลูกนิมิตและงานฉลองพระอุโบสถ
๓. เหรียญรุ่นสาม สร้าง พ.ศ.๒๕๓๖ จำนวนที่สร้างไม่แน่ชัด เป็นเนื้อทองแดง เพื่อแจกให้คณะผ้าป่า
๔. พระบูชา (รูปเหมือน) สร้าง พ.ศ. ๒๕๔๔ เพื่อหาปัจจัยในการก่อสร้างพระใหญ่ (พระพุทธละทายชัยมงคล) จำนวนสร้างไม่แน่ชัด
๕. เหรียญและพระปิดตา รุ่น มหามงคล ๘๘ ปลอดภัย ๒๕๕๓
๖. ตะกรุดโทนและตะกรุดอื่นๆ
๗. ชานหมาก รูปถ่าย และวัตถุมงคลอื่นที่ไม่ทราบชัดเจน