พระพุทธชินราช อนันตชิน หลวงปู่ผล ธัมมปาโล ปี ๒๕๒๘
฿400.00
Description
เนื้อผงพุทธคุณ สภาพดี ปี ๒๕๒๘ วัดหนองคณฑี จ.สระบุรี
เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายีมหาเถร) วัดมกุฏกษัตริยาราม เมื่อครั้งทรงสมณศักดิ์ที่พระศาสนโสภณ ได้ลิขิตไว้เป็นการแก้ไขปัญหาของพระคุณนามพระพุทธชินราช ว่า “ใครเป็นผู้ชนะ”ตอนหนึ่งว่า
” ผู้ยอมสละ จึงเป็นผู้ชนะใจของชนทั้งปวง เพราะเป็นผู้ชนะใจของตนเองก่อน โดยความชนะกิเลสของตน ซึ่งเป็นสิ่งที่ชนะได้แสนยาก..พระบรมศาสดา เป็นผู้ยอมสละมาโดยลำดับ แม้กระทั่งเลือดเนื้อและชีวิต สืบต่อกันมาหลายชาติหลายภพ ที่เรียกกันว่า “ทรงบำเพ็ญทานบารมี” จึงทรงสามารถชนะ ชนะกิเลสของพระองค์ได้เด็ดขาดปราศจากความเห็นแก่ตัวโดยประการทั้งปวง”
ด้วยเหตุนี้แล พระองค์จึงทรงได้รับพระนามว่า “พระชินราชา” หรือ “พระชินราช” ซึ่งแปลว่า พระราชา หรือ พระเจ้าแห่งผู้ชนะทั้งมวล อันควรแก่การเคารพนับถือบูชาอย่างแท้จริง
..ก่อนที่เคารพบูชา “พระพุทธชินราช” กับทั้งได้รับทราบพระพุทธจริยาที่ทรงชนะมารทั้งปวงนั้น ส่วนที่ควรจะน้อมเข้ามาสู่ตัวเองของเรา อันควรจะสร้างชัยชนะให้แก่หัวใจของตนเอง จึงจะถือว่าบูชา พระแล้ว ได้ทั้งบุญทั้งกุศล คือทั้งความสุขใจและสติปัญญาแห่งสัมมาปฏิบัติ โดยได้ศึกษาธรรม และปฏิบัติธรรมอันสมควรแก่ธรรม จึงจะชื่อว่าเรากำลังจะได้รับชัยชนะ โดยเดินตามรอยบาทพระพุทธชินราช สมดังความคิดว่า
…คนที่ประพฤติ ตามธรรมคำ สอนของพระองค์ และย่อมเป็นผู้ให้ความปลอดภัยแก่โลก และย่อมเป็นที่รักนับถือของโลก นับว่าเป็นผู้ชนะที่ปราศจากศัตรู และปลอดภัยโดยประการทั้งปวง ไม่ใช่ผู้ชนะที่น่าหวาดกลัว และมีศัตรูไม่รู้จบ เพราะก่อทุกข์แก่โลก…
… ในที่สุด ขอถามท่านว่า “ใครเป็นผู้ชนะ” ตัวท่านละเป็นผู้ชนะแล้วหรือยัง ท่านเคารพนับถือ “พระพุทธชินราช”ท่านต้องชนะตามธรรมคำสอนของพระองค์ คือ สละให้ความสุขและความปลอดภัยแก่เพื่อนมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย..
จากพุทธประวัติของพระพุทธเจ้าหลังจากที่พระองค์ทรงตรัสรู้ แล้วใหม่ทรงเสวยวิมุตติสุข ๗ สัปดาห์ รวมเป็น ๔๙ วัน ตามมติแห่งพระอรรถกถาจารย์ เมื่อพระพุทธองค์ทรงตัดสินพระทัยเสด็จโปรดเวไนยสัตว์ ต่อมพุทธจริยาแห่งพระพุทธเจ้าทรงมีพุทธพระดำริจะไปโปรดผู้ใดก่อน
ทรงรำลึกถึงอาจารย์ทั้งสองคือ “อาฬารดาบส กาลามโคตร” กับ “อุทกดาบสรามบุตร” แต่ด้วยมัจจุมาร (มาร คือ ความตาย) มาพรากอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ จากทั่งสองท่าน ท่านแรกมรณภาพไปเมื่อ ๗ วันก่อน และท่านที่ ๒ ได้ถึงมรณภาพ เมื่อค่ำวานนี้
จากนั้นพระองค์ได้ทรงพิจารณาถึง “ปัญจวัคคีย์”ฤาษีทั้ง ๕ ที่เคยอุปัฏฐากพระองค์ เมื่อครั้งทรงบำเพ็ญ ทุกรกิริยาว่า มีอินทรีย์อันควรที่จะตรัสรู้ธรรมตามพระองค์ได้ จึงเสด็จดำเนินไปสู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี อันเป็นที่อยู่ของปัญจวัคคีย์นั้น
ระหว่างทางที่จะเสด็จไปโปรด“ปัญจวัคคีย์” มีอาชีวก ชื่อ “อุปกะชีวก” ได้เดินสวนทางเสด็จของพระองค์ ดังที่“อาจารย์วศิน อินทสระ”ได้เขียนบรรยายไว้ในเรื่อง “พระอานนท์พุทธอนุชา”ว่า
.. สมัยเมื่อ พระองค์ตรัสรู้ใหม่ๆทรงดำริจะโปรด“ปัญจวัคคีย์”ณ อิสิปตนมิคทายะ เสด็จดำเนินจากบริเวณโพธิมณฑลไปสู่แขวงเมืองพาราณสี ระหว่างทางทรงพบอาชีวกผู้หนึ่งนามว่า อยู่ในวัย ค่อนข้างชราแล้ว เขาเห็นพระผู้มีพระภาคเดินสวนทางไป จึงถามว่า
“สมณะ ผิวพรรณของท่านผ่องใสยิ่งนัก อินทรีย์ของท่านสงบน่าเลื่อมใส ท่านบวชในสำนักของใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน”
” สหาย” พระศาสดาตรัสตอบรับ “เราเป็นผู้ครอบงำไว้ทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นใหญ่ในตนเองเต็มที่ เรารู้ทุกสิ่งทุกอย่างในทางธรรม เราหักกรรมแห่งสังสารจักร เป็นเหตุให้เวียนว่ายตายเกิดได้แล้วด้วยตนเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ จะพึงอ้างใครเล่าว่าเป็นศาสดา”
“ อาชีวก” ได้ฟังดังนี้แล้ว นึกดูหมิ่นอยู่ในใจว่า สมณะผู้นี้ ช่างโอหังลบหลู่คุณของศาสดาตน น่าจะลองถามชื่อดู เผื่อว่าจะมีคณาจารย์เจ้าลัทธิใหญ่ๆจะจำได้บ้างว่าเคยเป็นศิษย์ของตน คิดดังนี้แล้วจึงกล่าวว่า
“สมณะ ที่ท่านกล่าวมานี้ ก็น่าฟังอยู่ดอก แต่จะเป็นไปได้หรือ คนที่รู้อะไรอะไรได้เองโดยไม่มีครูอาจารย์ แต่ช่างเถิด ข้าพเจ้าไม่ติดใจในเรื่องนี้นักดอก ข้าพเจ้าปรารถนาทราบนามของท่าน เผื่อว่าพบกันอีกในคราวหน้าจะได้ทักทายกันถูก”
“พระศากยมุนี” ผู้มี “อนาคตังสญาณ” ทราบเหตุการณ์ภายหน้าได้โดยตลอด ทรงคำนึงถึงประโยชน์บางอย่างในอนาคต แล้วตรัสตอบว่า “สหาย เรามีนามว่า “อนันตชิน” ท่านจำไว้เถิด” แล้ว “อุปกะชีวก” ก็เดินเลยไป พระศาสดา ก็เสด็จบ่ายพระพักตร์ไปสู่พาราณสี
ในส่วนที่ยกมานี้ แม้จะเป็นสำนวนเชิงธรรมนิยาย อิงชีวประวัติในพุทธกาล มันเป็นแนวทางให้ทราบว่าพระพุทธองค์ทรงตรัสเรียกพระองค์เองต่อบุคคลเป็นครั้งแรกหลังตรัสรู้แล้วว่าพระองค์ คือ “พระชินราช”หรือ “อนันตชิน” คือ พระผู้ชนะอันยิ่งใหญ่หาที่สุดมิได้
ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุให้ “สมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไท”ทรงถวายพระนามพระพุทธปฏิมา ที่ทรงสร้างขึ้นเมื่อ ๖๐๐ กว่าปีก่อน ว่า“พระพุทธชินราช “ก็อาจเป็นได้ เพราะเจ้านายพระองค์นี้ทรงแตกฉานใน“พระไตรปิฎก”และ “อรรถกถาฎีกา” อีกทั้งคัมภีร์ปกรณ์ต่างๆถึงขนาดร้อยกรอง “เตภูมิกถา” (ไตรภูมิพระร่วง) ที่ทรงอ้างอิงคัมภีร์ปกรณ์ต่างๆ กว่า ๓๐ คำภีร์ “เตภูมิกถา”นี้ อาจกล่าวได้ว่าเป็นวิทยานิพนธ์เล่มแรกที่เจ้านายคนไทยในยุคสุโขทัย ได้พระราชนิพนธ์ขึ้นอันปรากฏแล้วในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา
เนื้อความที่พระพุทธองค์ ตรัสตอบอุปกะชีวกนั้น ซึ่งสอดคล้องกับเตภูมิกถา ดังมีเนื้อความว่า
“เราเป็นผู้ครอบงำธรรม ที่เป็นไปในภูมิ ๓ (กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิทั้งปวง) ได้รู้ธรรมทั้งปวงที่เป็นไปในภูมิ ๔ ( กามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ โลกุตรภูมิ) เป็นผู้อันกิเลสไม่ฉาบทาแล้วในธรรม อันเป็นไปในภูมิ ๓ ทั้งปวง ละธรรมที่เป็นไปในภูมิ ๓ ได้หมด หลุดพ้นแล้ว เพราะธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา คือ “พระนิพพาน” (โดยทำให้เป็นอารมณ์) เราตรัสรู้ยิ่ง ธรรมที่เป็นไปในภูมิ ๔ ด้วยตนเองแล้ว จะพึงอ้างใครเป็นอาจารย์เล่า”
…อาจารย์เราไม่มี บุคคลผู้เช่นกับเราไม่มี ผู้เสมอเหมือนเราก็ไม่มีในโลกพร้อมทั้งเทวโลก เราเป็นพระอรหันต์ เป็นศาสดาหาศาสดาอื่นยิ่งกว่ามิได้ เป็นผู้เลิศที่สุด เป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบในโลก เป็นผู้เย็นใจดับกิเลสได้แล้ว เราจะไปเมืองหลวงของแคว้นกาสี เพื่อแสดงพระธรรมจักร เราจะตีกลองอมตะในโลกอันมืดมิด เพื่อให้สัตว์ได้ดวงตาเห็นธรรม…
หลังจากที่พระองค์ ทรงตรัสเรียกพระองค์เองกับอุปกะชีวก ว่า “พระชินะ” เป็นครั้งแรกแล้ว มีปรากฏในพระไตรปิฎก อรรกถา และคัมภีร์ต่างๆมากมาย ที่กล่าวว่าพระพุทธองค์ คือ พระชินเจ้า หรือ “พระชินราช “นั่นเอง