฿450.00
เนื้อทองแดง สภาพสวย ตอกโค๊ด รุ่นแซยิด ๙ รอบ ปี ๒๕๔๖ วัดศรีสุภาราม จ.ภูเก็ต
มีผู้กล่าวว่า กว่าจะมีพระอรหันต์ปรากฏในโลกย่อมนานแสนนาน ทั้งเมื่อพระอรหันต์ปรากฏแล้วก็จะมีเพียงผู้คนไม่กี่ร้อยกี่พันคนเท่านั้นที่จะสามารถเข้าใจในความเป็นพระอรหันต์ และได้รับการโปรดด้วยธรรมะอันลุ่มลึก และพิสดารจนสามารถเข้าถึงแก่นแท้แห่งชีวิตและความเป็นอนิจจัง ด้วยว่าพระอรหันต์ย่อมแสดงกิริยาอาการหรือสื่อความเป็นพระอรหันต์มิได้แต่เพียงน้อยนิด ด้วยสมเด็จพระทศพลญาณทรงปรับโทษสูงถึงอาบัติปาราชิก แม้จะมีภูมิธรรมอันเป็นพระอรหันต์ก็ตามที ดังนั้น แม้จะไม่พบอาจพบพระอรหันต์ได้ในชีวิตนี้ ก็ยังมีพระสุปฏิปันโน อันเป็นเนื้อนาบุญของสัตว์โลก ผู้เป็นพุทธศาสนิกชนให้ได้บูชาสักการะ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตของตนเองและบุคคลอันเป็นที่รัก สมเด็จพระญาณไตรโลกนาถบรมศาสดาทรงตรัสไว้ชัดเจนว่า พระสุปฏิปันโน เปรียบเสมือนนาข้าวอันอุดมสมบูรณ์ไปด้วยอินทรีย์สารอันมีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว ให้รวงข้าวอันเต่งทุกเม็ด ให้ผลแก่ร่างกายมนุษย์และสัตว์เมื่อบริโภค ข้าวเปลือกเปรียบเสมือนทานบารมีที่พุทธศาสนิกชนได้หว่าลงในเนื้อนาบุญของสัตว์โลก คือพระสุปฏิปันโน ย่อมให้ต้นข้าวและรวงข้าวอันมีโภคผลในกรหล่อเลี้ยงชีวิตของผู้ล่วงลับดับไปจากโลกนี้แล้ว และให้ความอยู่ดีมีสุขแก่ผู้ที่ยังต้องดำรงชีวิตอยู่ในโลกอันเต็มไปด้วยกิเลสและตัณหาอันเชี่ยวกรากเสมือนเรืออันแข็งแรงพาผู้โดยสารข้ามวังวนแห่งกิเลสไปสู่ฝั่งพระนิพพาน ตามกำลังแห่งศรัทธาปสาทะและความตั้งใจอันบริสุทธิ์ของแต่ละบุคคล ดังนั้นจะขอนำท่านไปพบกับหลวงพ่อสุภา กันตะสีโล ผู้ยิ่งด้วยเมตตาบารมี พระสุปฏิปันโนผู้เป็นเนื้อนาบุญอันไพศาลของโลกอีกองค์หนึ่ง ซึ่งชีวิตท่านอุทิศแล้วแก่พระพุทธศาสนา และอุทิศแก่การโปรดสัตว์ผู้ยาก พ้นแก่วังวนของกิเลสและตัณหา แผ่เมตตาธรรมโดยถ้วนห้าแก่ทุกชีวิตที่เข้ามาพึ่งใบบุญ สงเคราะห์แก่ทุกผู้ทุกนามโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ สายตาของท่านมองดูสัตว์โลกด้วยความเท่าเทียมกันในความเป็นมนุษย์ประเสริฐ มองลึกเข้าไปจากเสื้อผ้าอาภรณ์เครื่องประดับและยศถาบรรดาศักดิ์จอมปลอม ทุกคนจึงได้รับการปฏิบัติจากหลวงพ่อสุภา กันตะสีโลโดยเท่าเทียมทุกวันวาร
ปฐมบทของหลวงปู่สุภา กันตสีโล
ครอบครัวของท่านขุนภักดี หรือผู้ใหญ่บ้านพล วงศ์ภาคำ และนางสอ วงศ์ภาคำ เป็นที่เคารพของชาวบ้านคำบ่อ อ.วารินชำราบ จ.สกลนคร ทั้งนี้เพราะท่านผู้ใหญ่พลสร้างแต่ความดี มีน้ำใจและบำบัดทุกข์บำรุงสุขของราษฎรในปกครองอย่างเสมอหน้า ว่ากล่าวตักเตือนด้วยความเมตตา เมื่อพบผู้กระทำผิดอันพอจะอภัยได้ และกระทำการจับกุมอย่างเด็ดขาดในกรณีที่กฎหมายไม่อาจจะละเว้นหรือตักเตือนได้ ทุกคนจึงพร้อมที่จะร่วมมือกันท่านผู้ใหญ่พลในทุก ๆ ด้าน บ้านคำบ่อจึงอยู่กันอย่างสงบสุขตลอดมา
วันพฤหัสบดีที่ ๑๗ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๓๙ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีวอก คุณแม่สอก็ให้กำเนิดบุตรชายคนที่ ๘ ในสกุลวงศ์ภาคำ เป็นเด็กที่มีความอ้วนท้วนสมบูรณ์ หน่วยก้านบอกว่า ต่อไปจะเป็นคนดีของบ้านเมือง และคนดีศรีวงศ์ตระกูล ท่านผู้ใหญ่พล จึงให้นามบุตรชายคนนี้ว่า “สุภา” อันประกอบด้วย “สุ” แปลว่า “ดี” และ “ภา” มาจากส่วนหนึ่งของสกุลว่า “วงศ์ภาคำ” ซึ่งมีความหมายว่า คนดีของตระกูลวงศ์ภาคำ นั่นเอง
หลวงปู่สุภามีพี่น้องทั้งหมด ๘ คน คือ
๑. นางสี วงศ์ภาคำ (ถึงแก่กรรม)
๒. นายเสน วงศ์ภาคำ (บวชเป็นพระภิกษุ – มรณภาพ)
๓. นางผม วงศ์ภาคำ (ถึงแก่กรรม)
๔. นางเกตุ วงศ์ภาคำ (ถึงแก่กรรม)
๕. นายจันทร์เพ็ง วงศ์ภาคำ (ถึงแก่กรรม)
๖. หลวงปู่สุภา กนฺตสีโล
๗. นางมาลีจันทร์ วงศ์ภาคำ (ถึงแก่กรรม)
๘. นางกา วงศ์ภาคำ (ยังมีชีวิตอยู่)
หลวงปู่สุภารำลึกความหลังให้กับสานุศิษย์ได้รับรู้ว่า เมื่อท่านยังเป็นเด็กที่มีรูปร่างอ้วนท้วน เจ้าเนื้อ ผิวขาว ซุกซนตามประสาเด็กทั่วไป แต่ไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อยู่ในครอบครัว และผู้ที่อยู่ใกล้ชิด เมื่อวัยของท่านเจริญเติบโตเพียงพอจะเล่าเรียนได้แล้ว ผู้เป็นบิดาของท่านได้พาไปฝากไว้ในวัด ให้ได้เล่าเรียนเขียนอ่านตามสมควรแก่วัย และเวลาหลวงปู่เป็นเด็กที่ว่านอนสอนง่าย มักชอบเล่าเรียนมากว่าเด็กในรุ่นเดียวกันหลวงปู่สุภายังจำได้แม่นยำเหมือนเพิ่งเกิดเมื่อไม่กี่วันมานี้ ถึงสิ่งที่ท่านได้ประสบกับสิ่งที่เรียกว่า “การพยากรณ์” จากปากของพระธุดงค์ที่มาปักกลดใต้ต้นตะแบกใหญ่ท้ายหมู่บ้านคำบ่อ เด็กน้อยชื่อสุภา วัยเพียง ๗ ขวบ คลานเข้าไปกราบแทบตักพระธุดงค์ มือของพระธุดงค์ลูบศีรษะของเด็กน้อยด้วยความเอ็นดู บอกให้ลุกขึ้นนั่งทอดสายตา มองดูรูปร่างของเด็กน้อยที่นั่งอยู่ตรงหน้าเป็นครู่ใหญ่ จึงกล่าวกับเด็กน้อยหรือหลวงปู่สุภาเมื่อตอนอายุได้ ๗ ขวบ ว่า
“เด็กน้อยเอ๊ย ต่อไปเจ้าจักได้บวชเรียน ถวายตัวในพุทธศาสนา บวชเมื่อใดแล้วจงอย่างลืมไปเสาะหาหลวงพ่อให้จงได้ อย่าลืมนะ พบกันในวาระที่เจ้าได้ครองผ้าเหลืองเหมือนหลวงพ่อนี้แหละ”
หลวงปู่สุภาเมื่อยังเป็นเด็ก ไม่เข้าใจว่านั่นคือคำพยากรณ์ จึงไม่ใส่ใจ แต่ได้จ้องดูหน้าของพระธุดงค์จนจดจำองคาพยพไว้ได้ทั้งหมด ก่อนจะกราบลาออกไปวิ่งเล่นตามประสาเด็กซุกซนตามปกติ
วันเวลาเคลื่อนคล้อยไปอีกสองปีเต็ม หลวงปู่สุภามีอายุได้ ๙ ขวบ จึงขอผู้เป็นบิดาออกบรรพชาเป็นสามเณร ท่านผู้ใหญ่พลไม่ขัดข้อง เพราะเห็นแล้วว่า หลวงปู่สุภาเป็นผู้เอาใจใส่ในการเล่าเรียน แม้จะไม่ได้เรียนทางโลก หากแต่เรียนทางธรรม ย่อมมีความเจริญดุจเดียวกัน จึงนำไปให้พระอาจารย์สวนทำการบรรพชาเป็นสามเณรและสั่งสอนอบรมอยู่หนึ่งปีเต็ม
วันหนึ่ง พระอาจารย์สวนได้บอกกับหลวงปู่สุภา
“อย่างเณรมันต้องก้าวหน้ากว่านี้ ฉันจะพาเข้าเมืองอุบลฯ ไปเล่าเรียนต่อให้แตกฉาน อยู่กับฉันมันก็แค่นี้แหละเณร”