฿250.00
เนื้อทองแดง สภาพเก่าเก็บ ปี ๒๕๓๙ อายุครบ ๘๖ ปี วัดอินทราสุการาม (วัดหนองยาว) ต.กระเทียม อ.สังขะ สุรินทร์ “หลวงปู่เจียม อติสโย” พระเกจิชื่อดังเมืองสุรินทร์ เป็นพระที่มีศีลาจารวัตรดีงาม หลวงปู่เจียม มีนามเดิมว่า เจียม นวนสวัสดิ์ (เดือมดำ) เกิดเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๔ ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๒ ปีกุน สายเลือดกัมพูชา ภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่บ้านดองรุน ต.ประเตียเนียง อ.มงคลบุรี จ.พระตะบอง ประเทศกัมพูชา มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๔ คน เป็นชาย ๓ คน หญิง ๑ คน ท่านเป็นบุตรคนโต และในกาลต่อมาท่านได้อุปสมบท เมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๑ ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดทักษิณวารี ต.ลำดวน อ.ลำดวน จ.สุรินทร์ โดยมีหลวงพ่อวาง ธัมมโชโต เกจิดังเรืองวิทยาคม เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายานามว่า “อติสโย” หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านสมัครใจอยู่จำพรรษา ณ วัดทักษิณวารี เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย ฝึกวิปัสนากัมมัฏฐาน เรียนภาษาไทย โดยฝากตัวเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อวาง-หลวงพ่อเปราะ นอกจากนี้แล้ว ท่านยังวนเวียนออกธุดงค์ไปตามถ้ำและป่าเขาอย่างต่อเนื่อง ในเขตพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และชายแดนประเทศลาว โดยยึดป่าเขาเป็นสถานศึกษา ได้พบกับพระอาจารย์หลายท่านในระหว่างเดินธุดงค์ ได้สนทนาธรรมและเรียนรู้วิธีการปฏิบัติสมาธิภาวนาจากพระอาจารย์เหล่านั้น เป็นเวลานานถึง ๑๓ ปี แล้วกลับมาเข้าพรรษาที่วัดทักษิณวารี ภายหลังกลับจากธุดงค์แล้ว เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๓ กลุ่มชาวบ้านหนองยาง ได้นิมนต์หลวงปู่เจียม ให้ไปสร้างวัดในพื้นที่บ้านหนองยาว ถนนโชคชัย-เดชอุดม ต.กระเทียม อ.สังขะ จ.สุรินทร์ เป็นสำนักสงฆ์ ด้วยการสร้างกุฏิเล็กๆ สำหรับการปฏิบัติธรรม โดยหลวงปู่เจียมได้อยู่จำพรรษาอยู่ที่สำนักสงฆ์แห่งนี้ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ต่อมาสำนักสงฆ์แห่งนี้ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น “วัดอินทราสุการาม” หลวงปู่เจียมได้จัดสร้างวัตถุมงคลขึ้นครั้งแรก เป็น “ตะกรุดโทน” ลักษณะม้วนแผ่นทองสอดสายยางร้อยกับสายร่ม และผูกห้อยพระแก้วมรกตและเหรียญรูปเหมือน เป็นต้น และเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๑๕ หลวงปู่เจียมอนุญาตให้คณะศิษยานุศิษย์ จัดสร้างวัตถุมงคลกริ่งรูปเหมือน รุ่น ๑ จำนวน ๗,๐๐๐ องค์ เหรียญรูปเหมือน รุ่น ๑ จำนวน ๗,๐๐๐ เหรียญ พร้อมตะกรุดแขวนคอชุดใหญ่ จำนวน ๗,๐๐๐ เส้น พ.ศ. ๒๕๓๗ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมหลวงปู่เจียม ที่วัดอินทราสุการาม เป็นการส่วนพระองค์ เพื่อสนทนาธรรม ในโอกาสนี้ หลวงปู่เจียมได้ทูลเกล้าฯถวายวัตถุมงคลพระกริ่งรูปเหมือน รุ่นรับเสด็จ ตะกรุด เป็นที่ระลึกด้วย พ.ศ. ๒๕๔๖ หลวงปู่เจียมอนุญาตให้จัดสร้างวัตถุมงคล รุ่นมูลนิธิอติสโย เป็นวัตถุมงคลหล่อโบราณ รูปเหมือน (เททองในวัด) สรุปรวมวัตถุมงคลทั้งวัดจัดสร้าง ภาครัฐ และเอกชน รวมทั้งสิ้นประมาณ ๕๐ รุ่น เมื่อรวบรวมปัจจัยได้นำไปสร้างถาวรวัตถุมากมายและจัดซื้อที่ดินเพิ่มเติม สมณศักดิ์ที่ได้รับ พ.ศ. ๒๕๒๗ หลวงปู่เจียมได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ในราชทินนามที่ “พระครูอุดมวรเวท”มรณภาพ ย่างเข้าสู่วัยชรา หลวงปู่เจียมเริ่มมีอาการเหน็ดเหนื่อย สายตาพร่ามัว ประสาทหูฟังไม่ค่อยชัด คณะศิษยานุศิษย์ได้นำตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลอยู่เป็นประจำ ครั้นเมื่อออกจากโรงพยาบาล หลวงปู่เจียมยังต้องรับกิจนิมนต์จากชาวบ้านที่เลื่อมใสศรัทธา เพื่อคอยปัดเป่าทุกข์บำรุงสุขไม่เว้นแต่ละวัน บ้างต้องไปนั่งประพรมน้ำมนต์ เป่ากระหม่อมให้ศิษย์สม่ำเสมอ กระทั่งเมื่อเวลา ๑๖.๕๙น ของวันศุกร์ที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ คณะศิษย์วัดอินทราสุการาม ได้ตีระฆังรัวกลองเป็นชุด เพื่อแจ้งเหตุว่า บัดนี้ชาวเมืองสุรินทร์ได้สูญเสียปูชนียสงฆ์รูปสำคัญ คือ หลวงปู่เจียมได้มรณภาพลงอย่างสงบด้วยโรคไตวาย ภายในกุฏิวัดอินทราสุการาม หลังเข้ารับการรักษาตัวด้วยอาการอาพาธจากโรคไตมาเป็นเวลานาน ประกอบกับวัยที่ชราภาพมาก สิริอายุรวม ๙๖ พรรษา ๔๗ ท่ามกลางความเศร้าโศกเสียใจของบรรดาลูกศิษย์ลูกหาและชาวบ้านที่เคารพนับถือเป็นยิ่งนัก คณะสงฆ์และคณะศิษยานุศิษย์รวมไปถึงชาวบ้านได้นำร่างหลวงปู่บรรจุไว้ในโลงแก้ว ตั้งไว้ ณ ศาลาการเปรียญวัดอินทราสุการาม เพื่อให้ประชาชนกราบไหว้รำลึกถึงคุณงามความดี สำหรับกำหนดการเบื้องต้น จะมีการบรรจุศพหลวงปู่เจียมที่วัดอินทราสุการาม เป็นเวลา ๑๕ วัน เพื่อให้บรรดาพุทธศาสนิกชนได้ร่วมบำเพ็ญกุศลโดยทั่วกัน : คัดลอกประวัติบางตอนมาจาก :: ๑. หนังสือพิมพ์ข่าวสด หน้า ๑ คอลัมน์ มงคลข่าวสด วันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ปีที่ ๑๖ ฉบับที่ ๕๗๖๔