฿400.00
เนื้อทองแดง สภาพสวย ปี ๒๕๒๒ อนุสรณ์สร้างวัดไทยในประเทศศรีรังกา
พระเขี้ยวแก้ว เป็นสมบัติอันล้ำค่าสำหรับชาวพุทธศรีลังกา ปรากฎหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่า ในปีที่ ๙ แห่ง รัชสมัย พระเจ้าศิริเมฆวรรณ (โอรสของพระเจ้ามหาเสนะ) คือประมาณปี พ.ศ.๙๑๓ เจ้าชายทันตกุมาร และเจ้าหญิงเหมชาลา แห่งแคว้นกาลิงคะ ในอินเดีย ได้แอบซ่อนพระธาตุเขี้ยวแก้ว ซึ่งเป็นพระเขี้ยวด้านซ้ายของพระพุทธเจ้า หนีไปยังเกาะลังกาตามพระบัญชาของพระบิดาคือ พระเจ้าคุหเสวราช เพราะพระเขี้ยวแก้วนี้เป็นที่ต้องการของเมืองต่างๆ ยิ่งนัก อาจทำให้ก่อเกิดสงครามและพระเขี้ยวแก้วอาจตกไปอยู่ในมือของฝ่ายศัตรูได้ พระเจ้าคุหเสวราชเห็นว่า เกาะลังกาคู่ควรที่เป็นที่ประดิษฐานพระเขี้ยวแก้วนี้ จึงมีพระบัญชาดังกล่าว
ในรัชสมัยพระเจ้าวิชัยพาหุที่ ๖ แห่งโกฎเฏ (พ.ศ.๑๙๓๐ – ๑๙๓๔) พระเจ้าจักรพรรดิจีนพระนามว่า ยุงโห ได้ส่งแม่ทัพคนหนึ่งมาขอพระธาตุเขี้ยวแก้วจากลังกาแต่ได้รับการปฏิเสธ เป็นเหตุให้จีนส่งกองทัพมาจับพระเจ้าวิชัยพาหุที่ ๖ ไปเป็นเชลยที่เมืองจีน แม้ต่อมาจะปลดปล่อย แต่จีนก็หาเหตุให้ลังกาส่งส่วยแก่ตน เป็นเวลาถึง ๕๐ ปี
มีประเพณีสืบทอดกันมาว่า ผู้เป็นสังฆนายกแห่ง วัดมัลลวัตตะ และ วัดอัสสคีรี ซึ่งเป็นพระฝ่ายสยามวงศ์ทั้งสองวัด จะต้องผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมีหน้าที่คอยดูแลพระธาตุเขี้ยวแก้ว
ชาวลังกามีความเชื่อถือว่า ถ้าฝนแล้ง เจ้าหน้าที่จะอัญเชิญพระธาตุเขี้ยวแก้วออกแห่เพื่อขอฝนและจะได้สัมฤทธิผลดังปรารถนาจริง ๆ ชาวลังกาเชื่อว่า ถ้าใครได้ครอบครอง พระเขี้ยวแก้ว ก็จะเป็นพระราชาพระมหากษัตริย์ มีเรื่องเล่าเรื่องเกี่ยวกับอภินิหารของพระเขี้ยวแก้ว ในหนังสือประวัติศาสตร์ พระพุทธศาสนา ฉบับมุขปาฐะไว้ว่า “เมื่อโปรตุเกสครอบครองศรีลังกาอยู่นั้น เพื่อเป็นการถอนรากถอนโคนพระพุทธ-ศาสนา ในลังกา โปรตุเกสได้ออกกฎหมายใช้เก็บภาษีต่อครอบครัวชาวพุทธอย่างรุนแรง ผู้ใดยอมรับนับถือศาสนาคริสต์ก็ได้อภิสิทธิ์ไม่ต้องเสียภาษี จึงมีชาวลังกาเข้ารีตเป็นจำนวนมากรวมทั้งพระเจ้าธรรมปาละแห่งโคลัมโบด้วย เข้ารีตแล้วเปลี่ยนชื่อเป็นพระเจ้าดองยวงและเพื่อเป็นการประกาศชัยชนะของพระผู้เป็นเจ้า นักสอนศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกจึงสั่งให้ พระเจ้ายองดวงมอบพระเขี้ยวแก้วให้ แล้วหัวหน้าบาทหลวงคาทอลิกได้ใช้ครกตำพระเขี้ยวแก้ว ต่อหน้าชาวลังกาจนทำลายไปหมด รัฐบาลโปรตุเกสได้ออกเหรียญที่ระลึกในงานนี้ รูปเหรียญด้านหนึ่งเป็นรูปผู้สำเร็จราชการโปรตุเกสจารึกว่า “ผู้พิทักษ์อันเที่ยงแท้” อีก ด้านหนึ่งเป็นรูปบาทหลวงตำพระเขี้ยวแก้ว พระสันตปาปาแห่งโรมได้ส่งสารมา แสดงความยินดี แต่พระเจ้าวิมลธรรมสุริยะแห่งกรุงแคนดีบอกว่า พระเขี้ยวแก้วของจริงอยู่ที่ตนที่พวกบาทหลวงทำลายเป็นของปลอม” ศรีลังกานั้น ถือว่าพระเขี้ยวแก้ว เป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นเอกราชและเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นกษัตริย์แห่งลังกาด้วย
โดยในราวเดือนสิงหาคมของทุกปีจะพิธีกรรมอันยิ่งใหญ่สมโภชพระเขี้ยวแก้ว จะมีริ้วขบวนยาวเหยียดนำด้วยช้างที่ตกแต่งประดับประดาอย่างสวยงาม มีระบำรำฟ้อน การแสดงพื้นเมืองลังกา และดนตรีพื้นเมืองลังกาบรรเลงแห่งไปรอบเมือง